หนุ่มเมาจอด จยย.ฉี่ข้างรั้วกรมศุลฯ เสียชีวิตปริศนา ลักษณะยืนตาย-หน้าฟุบคอติดรั้วเหล็กกันขโมย

เมื่อเวลา 01.45 น. วันที่ 16 มี.ค.64 ร.ต.อ.ธนเดช จันทร์มาลา รอง สว.(สอบสวน) สน.ท่าเรือ รับแจ้งเหตุผู้เสียชีวิตริมรั้วกรมศุลกากร ฝั่งถนนอาจณรงค์ แขวงและเขตคลองเตย กทม.จึงรุดไปตรวจสอบ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่สายตรวจ แพทย์นิติเวช รพ.จุฬาฯ และหน่วยกู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู 

ที่เกิดเหตุอยู่บริเวณริมรั้วใกล้ประตู 2 กรมศุลกากร พบศพ นายอนุวัฒน์ ภูกองไชย์ อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 133 หมู่ 13 ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เสียชีวิตในสภาพกำลังยืนปัสสาวะหันหน้าเข้าหารั้วเหล็กแหลมกันขโมย ซึ่งสูงจากพื้นดินประมาณ 1.5 เมตร โดยที่คอผู้ตายติดอยู่ในช่องว่างระหว่างก้านเหล็กแหลมที่มีความห่างราวๆ 6-8 นิ้ว สวมเสื้อยืดคอกลมสีน้ำเงิน คลุมทับด้วยเสื้อยีนส์ นุ่งกางเกงยีนส์ขายาวซิปถูกรูดลง ใส่รองเท้าแตะสีขาว ที่ศีรษะยังสวมหมวกนิรภัยแบบครึ่งใบสีดำ เนื้อตัวมีกลิ่นสุราคละคลุ้ง ส่วนรถจักรยานยนต์ผู้ตาย ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นโนวาอาร์เอสซูเปอร์ สีแดงขาว ทะเบียน กขท556 อุบลราชธานี ยังจอดอยู่บนถนนชิดกับขอบบาทวิถี เจ้าหน้าที่จึงเก็บรวบรวมรายละเอียดที่พบไว้เป็นหลักฐาน 

ร.ต.อ.ธนเดช เปิดเผยว่า จุดเกิดเหตุค่อนข้างมืด โดยก่อนพบศพมีตำรวจสายตรวจ สน.ท่าเรือ ขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา พบเห็นร่างผู้ตายยืนอยู่ในสภาพดังกล่าว จึงเข้าทำการตรวจสอบจนทราบว่า เป็นผู้ขับขี่ รถจักรยานยนต์จอดเเวะปัสสาวะ แล้วลำคอเกิดติดกับซอกช่องว่างระหว่างรั้วเหล็กกันขโมยของกรมศุลกากร จนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต เบื้องต้นคาดว่าผู้ตายน่าจะไปกินดื่มสังสรรค์แล้วขี่รถผ่านมา พอปวดปัสสาวะเลยจอดแวะเพื่อปลดทุกข์ แต่อาจเกิดวูบหรือเป็นอุบัติเหตุยืนเซหน้าคะมำ จนคอเข้าไปติดกับซอกเหล็ก แต่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เพราะความมึนเมา  ซึ่งจะมอบร่างให้แพทย์นิติเวชทำการผ่าชันสูตรอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนติดต่อญาติมารับศพไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป 

ขณะที่ไทยมุงซึ่งทราบข่าวมาดูเหตุการณ์ ต่างวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานา ว่า การเสียชีวิตครั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ตายยืนปัสสาวะหลบลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภายในกรมศุลกากร ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจากหลักฐานศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เรียกหน่วยงานนี้ว่า “จกอบ” ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า “พระคลังสินค้า” มีสถานที่สำหรับการภาษี เรียกว่า “ขนอน” เก็บภาษีจากระวางบรรทุกสินค้า เมื่อเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 เรียกว่า “โรงภาษี” ต่อมาในสมัย ร.4 เรียกว่า “ศุลกสถาน” กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดเก็บภาษีอย่างเต็มรูปแบบยิ่งขึ้น จึงมีการก่อตั้ง “กรมศุลกากร” ขึ้นมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้

ที่มาไทยรัฐ

(Visited 1 times, 1 visits today)

ใส่ความเห็น

error: Content is protected !!